วันพุธที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

ใช้โทรศัพท์มือถืออย่างฉลาด ช่วยประหยัดพลังงาน รักษาชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ใช้โทรศัพท์มือถืออย่างฉลาด ช่วยประหยัดพลังงาน รักษาชีวิตและสิ่งแวดล้อม




มีบางคนบอกว่า โทรศัพท์มือถือมีอิทธิพลกับการดำรงชีวิตของผู้คนในปัจจุบันมาก จนยกให้เป็น “ปัจจัยที่ 5” ของสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจหากมองไปทางไหนก็มีแต่คนพกโทรศัพท์มือถือ เพราะโทรศัพท์มือถือมีประโยชน์มากมาย รวมถึงสามารถช่วยลดการใช้พลังงานในภาวะราคาน้ำมันแพงด้วย

เนื่องจากสามารถใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว แทนการเดินทางเพื่อลดการสิ้นเปลืองพลังงานได้ อาทิ

• การใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อประสานงาน ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือพัฒนาไปมากกว่าแค่การพูดคุยเท่านั้น แต่สามารถเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตได้ด้วย ดังนั้นจึงมีผู้ใช้ระบบการสื่อสารเพื่อทำงานนอกสถานที่หรือทำงานที่บ้านแทน การเดินทางมาทำงานที่สำนักงานจำนวนไม่น้อย ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานได้มาก

• การใช้โทรศัพท์มือถือนัดหมายบุคคล หรือนัดหมายวัน เวลา สถานที่ ที่แน่ชัดดำเนิน กิจธุระ เพื่อลดความเสี่ยงในการผิดนัด หรือการใช้โทรศัพท์มือถือพูดคุยทักทายเพื่อนฝูง ญาติสนิท แทนการเดินทางไปพบในบางโอกาสก็ช่วยประหยัดน้ำมันได้

• การใช้โทรศัพท์ตรวจสอบความถูกต้องหรือชี้นำเส้นทาง กรณีที่ต้องเดินทางไปในสถานที่ไม่คุ้นเคย เพื่อป้องกันการขับรถหลงทาง ซึ่งนอกจากทำให้สิ้นเปลืองพลังงานแล้วยังเสียเวลาอีกด้วย

• การใช้โทรศัพท์มือถือสื่อสารกันระหว่างประเทศ เช่น การติดต่อธุรกิจระหว่างประเทศทางโทรศัพท์ มีส่วนช่วยลดเชื้อเพลิงสำหรับการบินได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ นอกจากเราจะใช้ประโยชน์จากโทรศัพท์มือถือเพื่อลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว ต้องรู้วิธีประหยัดพลังงานและยืดอายุการใช้งานของโทรศัพท์มือถือด้วย เพราะส่วนประกอบทุกชิ้นมีกำหนดอายุการใช้งาน เช่น แบตเตอรี่ มีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี ซึ่งหากเราไม่รู้วิธีการใช้นอกจากจะทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน ยังทำให้อายุการใช้งานสั้นกว่าที่กำหนดได้ สำหรับเคล็ดลับยืดอายุการใช้งานและประหยัดพลังงานในการใช้โทรศัพท์มือถือ คือ

• ถอดสายชาร์จออกทันทีเมื่อแบตเตอรี่เต็ม หากยังใช้แบตเตอรี่ไม่หมด ไม่ควรชาร์จไฟ เพราะจะทำให้เสื่อมเร็ว

•ลดความสว่างหน้าจอลง

•ปิดฟังค์ชั่นบลูทูธ ไวร์เลส เมื่อไม่ใช้งานทันที

•ตั้งค่าสแตนด์บายไว้ให้ต่ำที่สุด

•ปิดเสียงที่ไม่ต้องการใช้ เช่น ป่มกด เป็นต้น

โทรศัพท์มือถือใช่ว่าจะมีประโยชน์เฉพาะช่วงเวลาที่ยังใช้งานได้เท่านั้น แต่เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วยังสามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ถึง 80% และอีก 20% สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการรีไซเคิล จากสถิติของสมาคมผู้ประกอบการสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นระบุว่า เครื่องโทรศัพท์จำนวน 66,000 เครื่องสามารถรีไซเคิลโลหะทองได้ 1 กิโลกรัม จำนวน 97,000 เครื่องรีไซเคิลโลหะเงินได้ 1 กิโลกรัม นอกจากนี้สถิติของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) ของสหรัฐฯ ชี้ว่า พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากโทรศัพท์มือถือรีไซเคิลจำนวน 10,000 เครื่องเพียงพอต่อการใช้งานตลอดทั้งปีสำหรับ 19 ครอบครัว อีกทั้งช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับปริมาณรถขนาดเล็ก 14 คัน นอกจากนี้เศษชิ้นส่วนที่เหลือยังนำไปบดเป็นชิ้นส่วนของวัสดุก่อสร้างถนนหรือ ถมถนนได้อีกด้วย

แต่ปัญหาก็คือ หากผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทุกคนไม่มีระเบียบในการทิ้งโทรศัพท์ที่เสื่อมสภาพ แล้วละก็จะทำให้เกิดโทษมหันต์เช่นกัน เพราะส่วนประกอบบางอย่างในโทรศัพท์มือถือเป็น “ขยะพิษ” โดยเฉพาะแบตเตอรี่ มีส่วนประกอบที่เป็นโลหะหนักมีอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั้งหลายต้องให้ความร่วมมือทิ้งโทรศัพท์มือถือ เสื่อมสภาพหรือหมดอายุการใช้งาน ในถังขยะที่เขียนว่า “ขยะพิษ” หรือนำไปหย่อนในกล่องรับโทรศัพท์ แบตเตอรี่เก่า ซึ่งมีตามจุดที่บริษัทโทรศัพท์มือถือจัดวางไว้ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

หากคุณใช้ประโยชน์จากโทรศัพท์มือถืออย่างเต็มประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบ ต่อสังคม จงภูมิใจได้ว่าคุณคือคนหนึ่งที่ “ใช้โทรศัพท์มือถืออย่างฉลาด...ประหยัดพลังงาน…รักษาชีวิตและสิ่งแวดล้อม”

https://th-th.facebook.com/notes/lg-lifes-good/%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%96%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94-%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1/417603554494/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น